のんびりする ; )

“ไซยาไนด์” อันตรายถึงชีวิต อาการเป็นอย่างไร พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

862

- Advertisement -

ไซยาไนด์ (cyanide) สารพิษร้ายแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต อาการแบบไหนที่เป็นพิษของไซยาไนด์ และมีวิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้นอย่างไรบ้าง

ไซยาไนด์ คืออะไร

ไซยาไนด์ (cyanide) เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง สามารถพบได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น

ก๊าซไฮโดรเจน ไซยาไนด์ (hydrogen cyanide)

เกิดจากการเผาไหม้สารพลาสติก โพลียูริเทน (polyurethane) และหนังเทียม เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในผู้เคราะห์ร้ายในเพลิงไหม้ เป็นก๊าซที่ไม่มีสี แต่มีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ขม และถ้าเป็นของเหลวจะมีลักษณะเป็นของเหลวใส ระเหยเป็นก๊าซได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง มีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ขมเช่นกัน

สารละลาย

โพแทสเซียม ไซยาไนด์ (potassium cyanide) พบได้ในพืชหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น มันสำปะหลัง ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรน์ ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆ อ้อย แอบเปิ้ล เผือก หน่อไม้ เมล็ดอัลมอลด์ เชอรี่ พีช มะม่วง มะละกอ ฝรั่ง มะนาว เป็นต้น หากกินแบบดิบโดยไม่ผ่านความร้อนให้สุกเสียก่อน เมื่อร่างกายเผาผลาญจะทำให้ไซยาไนด์ในพืชเหล่านี้ออกมาเป็นพิษสู่ร่างกาย

โซเดียม ไซยาไนด์ (sodium cyanide) เป็นสารละลายที่ใช้ในการเคลือบเงา หรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง มีลักษณะเป็นของแข็ง เป็นเกล็ดสีขาว และมีกลิ่นอัลมอนด์ขมอ่อนๆ

อาการเมื่อได้รับพิษจากไซยาไนด์

หากได้รับพิษจากไซยาไนด์ จะปรากฏอาการขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้

อาการไม่รุนแรง

กล้ามเนื้อล้า แขนขารู้สึกหนัก

หายใจลำบาก

ปวดหัว รู้สึกมึนงง วิงเวียน

คลื่นไส้ อาเจียน

ลมหายใจมีกลิ่นอัลมอนด์จางๆ

รู้สึกระคายเคือง คันบริเวณจมูก คอ และปาก

- Advertisement -

อาการรุนแรง

คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง

หายใจลำบาก

ชักหมดสติ

เสียชีวิตภายใน 10 นาที

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน ส่วนมากจะได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ทางร่างกายด้วยการหายใจ การกิน และการซึมเข้าสู่ผิวหนัง หากได้รับไซยาไนด์เข้าไปปริมาณมากจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหายใจในระดับเซลล์ ทำให้เซลล์เสียชีวิตได้

นอกจากอาการเฉียบพลันแล้วผู้ป่วยบางรายก็อาจได้รับไซยาไนด์อย่างต่อเนื่องในระยะยาวจนเกิดการสะสม และก่อให้เกิดพิษเรื้อรังได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะ และเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ มักพบกับคนที่ทำงานในโรงงานแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคนงานขัดเครื่องเงิน

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับไซยาไนด์

ได้รับทางการหายใจ: ควรให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจน และอากาศบริสุทธิ์ ห้ามผายปอดด้วยวิธีปากต่อปาก และรีบส่งตัวผู้ป่วยให้แพทย์ทันที

ได้รับผ่านทางผิวหนัง: ก่อนทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยต้องสวมถุงมือป้องกัน จากนั้นให้ถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่เปื้อนไซยาไนด์ออก ล้างผิวหนังด้วยน้ำจำนวนมาก แล้วนำส่งแพทย์ทันที

ได้รับทางดวงตา: ขั้นตอนแรกให้รีบล้างไซยาไนด์ออกด้วยน้ำจำนวนมากเป็นเวลาหลายนาที หากใส่คอนแทคเลนส์ให้ถอดออก แล้วรีบส่งตัวให้แพทย์ทันที

ได้รับทางปาก: ให้รีบล้างปาก และให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย แต่ห้ามผายปอดด้วยวิธีปากต่อปาก และห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน จากนั้นรีบส่งแพทย์ทันที

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษของไซยาไนด์ไม่ว่าจะทางใดก็ตามคือการรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะหากได้รับในปริมาณมากจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ข้อมูลอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

- Advertisement -

Comments are closed.